กระผมนายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ใคร่ขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนและพี่น้องชาวจังหวัดสงขลาทุกท่าน ที่ได้ให้ความกรุณาสนับสนุนกระผมและไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ กระผมได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนด้วยความสำนึกของความเป็นผู้แทนราษฎรด้วยดีตลอดมา การสนับสนุนของท่านทั้งหลายเป็นสิ่งที่มีค่าสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสมือนหนึ่งพันธสัญญาที่กระผมได้ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน



วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แม่ทัพภาคใต้ปชป.ยัน ศอ.บต.ดีที่สุด



สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงมิอาจมองข้ามความแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ แม้การเลือกตั้งเที่ยวล่าสุดเมื่อปี 2550 พรรคจะได้ ส.ส.มาเพียง 5 ที่นั่ง จาก 11 ที่นั่ง ลดฮวบจากที่เคยกวาดเกือบทุกเขตเมื่อการเลือกตั้งปี 2548 แต่ถึงกระนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังถือว่ามี ส.ส.มากที่สุดในพื้นที่นี้


 ในห้วงที่พรรคเพื่อไทยสร้างกระแส “นครปัตตานี” หรือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ด้วยการรวมสามจังหวัดเป็น “นคร” แล้วเปิดให้เลือกตั้งผู้ว่าการนครโดยตรงจากประชาชนได้ จนได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและกลุ่มปัญญาชนในพื้นที่ไม่น้อยนั้น ทว่า นิพนธ์ บุญญามณี แม่ทัพภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ กลับกล้าประกาศจุดยืนเมิน “นครปัตตานี” ทั้งยังย้ำว่า ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พวกเขาผลักดันกฎหมายออกมารองรับได้สำเร็จนั่นต่างหากคือกลไกดับไฟใต้ที่ดีที่สุด.
ช่วงนี้หลายพรรคประกาศนโยบายดับไฟใต้กันอย่างคึกคัก ทั้งเพื่อไทย มาตุภูมิ อยากทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไรบ้าง?
             ผมมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีหลักการและแนวทางชัดเจนที่สุด รวมทั้งเรื่องกระจายอำนาจด้วย ผมยืนยันได้เลยว่าเรามาถูกทิศถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการแยกงานพัฒนากับงานความมั่นคงออกจากกัน
 เดิมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานที่ควบคุมงานดับไฟใต้ทั้งหมด ทั้งงานด้านความมั่นคงและงานพัฒนา แต่มันทำให้เกิดปัญหาสำหรับงานด้านความมั่นคงพอสมควร เราจึงได้แยกงานพัฒนาไปอยู่กับ ศอ.บต.ให้เป็นผู้ดูแลแทน และขณะนี้เราก็ได้ผลักดันกฎหมายรองรับโครงสร้าง ศอ.บต.สำเร็จแล้ว คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีรัฐมนตรีดูแลโดยตรงและขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี
โครงสร้างของ ศอ.บต.จะมีสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. หมายถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามประจำมัสยิด ผู้แทนเจ้าอาวาสในศาสนาพุทธ ผู้แทนที่มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของประชาชน ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนกลุ่มสตรี ผู้แทนหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และยังมีผู้แทนสื่อมวลชนด้วย คนกลุ่มนี้จะมาช่วยทำงานในสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.เพื่อให้งานเป็นเอกภาพ ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน
 ที่สำคัญคือ ตามกฎหมายใหม่ เลขาธิการ ศอ.บต.คือ คุณภาณุ อุทัยรัตน์ สามารถสั่งย้ายข้าราชการได้ทันที เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขที่กระทำต่อประชาชน
การแยกงานด้านความมั่นคงกับงานพัฒนาออกจากกัน จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาอย่างไร?
 ต่อไปงานความมั่นคงที่ใช้งบประมาณจำนวนมากจะดีขึ้น และสามารถตอบคำถามสังคมได้ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถตอบข้อข้องใจได้ และหลายๆ ครั้งยังต้องเทกำลังพลไปกับงานพัฒนามากเกินไป ส่งผลกระทบต่องานด้านความมั่นคงในการดูแลรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเอง
 เมื่อเราแยกงานตรงนี้ จะเห็นชัดว่างบประมาณจำนวนมากที่เสียไปกับการข่าวและปฏิบัติการต่างๆ นั้นสามารถมีคำตอบต่อสังคมได้ งานเราก็จะเห็นผลชัดเจนขึ้น ขณะที่งานด้านการพัฒนา การศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งเศรษฐกิจ ก็มีศอ.บต.เป็นองค์กรขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
ผลงานที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าประสบความสำเร็จ?
        ใช่ครับ หลายเรื่องมีความคืบหน้าไปมาก มีหลายปัจจัยเป็นตัวชี้วัด ทั้งการลงทุน การก่อสร้าง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้บางครั้งจะพบว่าความรุนแรงยังเกิดอยู่ แต่นั่นเป็นเพราะฝ่ายคนร้ายได้พัฒนาวิธีการก่อเหตุ จากอดีตเป็นแค่การใช้ปืนยิง เป้าหมายที่โดนก็เป็นเป้าเล็กๆ แต่ขณะนี้คนร้ายได้เปลี่ยนจากการใช้ปืนมาเป็นใช้ระเบิดแทน แน่นอนว่าความสูญเสียต้องมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างที่เราปรับใหม่ ก็สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ลดน้อยลงไปได้พอสมควร
พรรคมาตุภูมิเสนอให้มี “ทบวงดับไฟใต้” พรรคประชาธิปัตย์เอาด้วยหรือไม่?
        ผมมองว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำอยู่ไปไกลกว่าทบวงแล้ว ศอ.บต.ดีที่สุด เข้าถึงประชาชนที่สุด เพียงแค่ให้เวลาศอ.บต.ได้ทำหน้าที่ ซึ่งตอนนี้ศอ.บต.โครงสร้างใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน ระยะเวลายังสั้นกินไปที่จะด่วนตัดสิน ต้องให้เวลาเขาขับเคลื่อนมากกว่านี้ แต่ด้วยโครงสร้างที่เราออกแบบมา เชื่อว่าศอ.บต.คือที่พึ่งที่ดีที่สุดของพี่น้องประชาชน
มีกลยุทธ์อะไรที่จะสู้กับกระแสนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย?
   จริงๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีศักยภาพและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามาโดยตลอด ประเด็นเหล่านี้พรรคประชาธิปัตย์ทำมานานแล้ว ส่วน “นครปัตตานี” ไม่มีความชัดเจน ทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มตั้งคำถามกับคำว่า “นครปัตตานี” ว่าคืออะไร มีแล้วจะยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด จะมี อบจ. อบต. และเทศบาลหรือไม่ อะไรแบบนี้
คาดหวังว่าจะได้ ส.ส.สักกี่ที่นั่ง?
       การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 5 ที่นั่ง ครั้งนี้ก็หวังว่าจะได้มากกว่า 5 แต่ทั้งหมดคงต้องให้ประชาชนตัดสิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น