กระผมนายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ใคร่ขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนและพี่น้องชาวจังหวัดสงขลาทุกท่าน ที่ได้ให้ความกรุณาสนับสนุนกระผมและไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ กระผมได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนด้วยความสำนึกของความเป็นผู้แทนราษฎรด้วยดีตลอดมา การสนับสนุนของท่านทั้งหลายเป็นสิ่งที่มีค่าสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสมือนหนึ่งพันธสัญญาที่กระผมได้ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน



วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

7 ปีไฟใต้..วัดใจ"ปกครองพิเศษ" ปชป.งัดโมเดลใหม่สู้ "นครปัตตานี"

เปิดโมเดล ปชป.

นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบก็คือ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” แล้ว จะเอาอำนาจมาจากที่ไหน เพราะเป็นเสมือนการสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา ขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดอยู่ในปัจจุบัน

ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงควรลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ.แทน ก็จะแก้ปัญหาได้

“ประเด็นที่มีการเรียกร้องกันคือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไม่มีอำนาจเพียงพอใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นไป ปัญหาก็จบ โดยไม่ต้องกระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่เดิมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง”

นิพนธ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปขยายให้การปกครองส่วนภูมิภาคโตขึ้น เช่น นโยบายผู้ว่าฯซีอีโอ ซึ่งสวนทางกับการกระจายอำนาจ ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องคือถ่ายโอนอำนาจเพิ่มเข้าไปให้ท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องไปยุบเลิกโครงสร้างที่มีอยู่เดิมบางส่วน ก็จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะหากเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าการนคร จะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่นอน

“ถามว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าการนครรัฐปัตตานี โดยรวม จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นนครรัฐ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่เดิม 3 คนจะให้ไปอยู่ที่ไหน นายก อบจ.อีก 3 คน นายกเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครอีก ถ้าต้องยุบเลิกตำแหน่งพวกนี้ จะสร้างความขัดแย้งตามมาอีกมาก”

เมืองพิเศษชายแดน

นิพนธ์ อธิบายต่อว่า โมเดลของพรรคประชาธิปัตย์คือ การเพิ่มอำนาจให้ อบจ.และเมืองต่างๆ ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ให้สามารถบริหารจัดการและดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงเมืองชายแดนอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้วย

“พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชูธงให้เกิดเทศบาล อบจ.และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) โดยได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้คือรูปแบบเมืองพิเศษ เช่น แม่สอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) ภูเก็ต และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมืองเหล่านี้มีปัญหาด้านความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาจากการค้าตามแนวชายแดน จึงต้องมีการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษเข้ามาดูแล เพราะลำพังเพียงเทศบาล หรือ อบจ.ตามกรอบอำนาจเดิมไม่สามารถบริหารจัดการได้”

“จากแนวทางนี้ เมืองชายแดนทั้งหมดจะมีรูปแบบการปกครองลักษณะพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่ก่อปัญหาความขัดแย้ง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอยู่ แต่ลดอำนาจให้เหลือเพียงกำกับดูแลเป็นเรื่องๆ ไป และเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานกับส่วนกลางเท่านั้น”

“สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็มาระดมความคิดความเห็นกัน อาจจะเป็นเมืองชายแดนด้านวัฒนธรรมก็ได้ แล้วก็กำหนดขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ๆ ไปเสนอนครรัฐขึ้นมา โดยไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่อย่างไร และจะมีความสัมพันธ์กับราชการส่วนกลางอย่างไร”

นิพนธ์ ย้ำว่า การจะสร้างรูปแบบการปกครองพิเศษขึ้นมา ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าภารกิจของเมืองพิเศษคืออะไร อำนาจหน้าที่มีอะไรบ้าง และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย เช่น ถ้ามีปัญหาด้านการต่างประเทศ จะให้ใครเป็นผู้เจรจา งานด้านความมั่นคง การศึกษา จะดูแลเองทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นต้น

“เวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจต้องพูดให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางด้วย ไม่ใช่แค่คิดแต่ชื่อเป็นหัวขึ้นมา ส่วนรายละเอียดข้างล่างไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และเกิดแรงต้าน”

“ยกตัวอย่างเวลาสร้างบ้านใหม่ ต้องบอกให้ได้ก่อนว่าบ้านจะมีกี่ชั้น กี่ห้อง และใช้งบเท่าไหร่ ไม่ใช่สร้างไป ทำไป คิดไป สุดท้ายอาจได้แต่เสา และที่สำคัญที่สุดคือต้องถามคนที่จะอยู่ในบ้านด้วยว่าอยากให้บ้านเป็นอย่างไร เพราะถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่ก็จะกลายเป็นบ้านร้าง”

ส่วนแนวทางการรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “นครรัฐ” หรือ “มหานคร” นั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้นี้ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมีขนาดใหญ่มาก มิฉะนั้นจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ คิดว่าใช้รูปแบบ 1 จังหวัด 1 องค์กรดีกว่า เพราะจะมีความคล่องตัวในการบริหาร และมีโครงสร้าง อบจ.รองรับอยู่แล้ว

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าอยากอยู่ในนครรัฐ หรือ อบจ.ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นกิจจลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ตามมา” ส.ส.ประชาิธิปัตย์ กล่าว

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกฝ่ายในสังคมไทย ในวาระ 7 ปีของปัญหาภาคใต้ที่เปลวไฟยังคงคุโชน!

---------------------------------------------------------------------------
ที่มา . โต๊ะข่าวภาคใต้ /http://south.isranews.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น